สรุป NPAE : มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ EP. 4 เรื่อง “เงินลงทุน”
นิยามเงินลงทุน
เงินลงทุน หมายถึง ตราสารนี้และตราสารทุนที่กิจการมีไว้ เพื่อเพิ่มความมั่งคั่งให้กับกิจการ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของส่วนแบ่งที่จะได้รับ หรืออยู่ในรูปของราคาที่เพิ่มขึ้น หรือในรูปของประโยชน์ที่กิจการได้รับ
การจัดประเภทเงินลงทุน
1. เงินลงทุนในหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาด หมายถึง หลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายในตลาด (Set, Mai and Bex etc.) และมีการเปิดเผยราคาต่อสาธารณชน
1.1 หลักทรัพย์เพื่อค้า เงินลงทุนในตราสารทุนหรือตราสารหนี้ที่กิจการถือไว้เพื่อขายในอนาคตอันใกล้ หลักทรัพย์เพื่อค้าจึงมีอัตราการหมุนเวียนสูง
1.2 หลักทรัพย์เผื่อขาย เงินลงทุนในตราสารทุนหรือตราสารหนี้ที่ไม่ถือเป็นหลักทรัพย์เพื่อค้า และไม่เป็นตราสารหนี้ที่ตั้งใจจะถือจนครบกำหนด
2. เงินลงทุนที่ไม่ใช่หลักทรัพย์ที่อยู่ในความต้องการของตลาด
การจัดประเภทเงินลงทุน (ต่อ)
เงินลงทุนในตราสารทุนต้องจัดประเภทเป็นหลักทรัพย์เพื่อค้าหรือหลักทรัพย์เผื่อขาย เว้นแต่ ว่าตราสารทุนนั้นจะเป็น
1. เงินลงทุนในบริษัทย่อย หมายถึง เงินลงทุนในตราสารทุนของกิจการซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ลงทุน (บริษัทใหญ่) ซึ่งบริษัทใหญ่มีอำนาจในการออกเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ถือว่ามี “อำนาจในการควบคุม”
2. เงินลงทุนในบริษัทร่วม หมายถึง เงินลงทุนในตราสารทุนของกิจการที่อยู่ภายใต้อิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญของผู้ลงทุน และไม่ถือเป็นบริษัทย่อยหรือส่วนได้เสียในการร่วมค้า ซึ่งผู้ลงทุนมีอำนาจในการออกเสียง อย่างน้อยร้อยละ 20 ถือว่า “มีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญ”
3. เงินลงทุนในกิจการร่วมค้า หมายถึง เงินลงทุนในตราสารทุนของกิจการ ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมร่วมของผู้ร่วมค้า
การวัดมูลค่าเมื่อเริ่มแรก
กิจการต้องวัดมูลค่าเงินลงทุนทุกประเภทเมื่อเริ่มแรกด้วยด้วย “ราคาทุน” ซึ่ง ราคาทุน = มูลค่ายุติธรรมของสิ่งตอบแทนที่ให้ไปเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินลงทุน + ค่าใช้จ่ายในการทำรายการ
ในส่วนของตราสารหนี้ ราคาทุนของ “ตราสารหนี้” เมื่อเริ่มแรกต้องไม่รวมดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นก่อนที่กิจการจะได้เงินลงทุนดังกล่าวมา เช่น ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นก่อนที่กิจการจะได้หุ้นกู้ที่ระบุอัตราดอกเบี้ย ดอกเบี้ยดังกล่าวรวมอยู่ในราคาซื้อของหุ้นกู้ แต่ไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของราคาทุนของเงินลงทุน
การวัดมูลค่าภายหลังการได้มา
เงินลงทุนในตราสารทุน
1. กิจการต้องวัดมูลค่าเงินลงทุนที่เป็นหลักทรัพย์ที่อยู่ในความต้องการของตลาด ด้วยมูลค่ายุติธรรม ณ วันสิ้นสุดรอบระยะเวลารายงาน กิจการต้องรับรู้ “กำไร (ขาดทุน) ที่ยังไม่เกิดขึ้น”
- หลักทรัพย์เพื่อค้า : งบกำไรขาดทุน
- หลักทรัพย์เผื่อขาย : ส่วนของเจ้าของ
ราคาตามบัญชี - มูลค่ายุติธรรม ณ วันสิ้นสุดรอบระยะเวลารายงาน = กำไร(ขาดทุน)ที่ยังไม่เกิดขึ้น
2. กิจการต้องวัดมูลค่าเงินลงทุนในตราสารทุนที่ไม่ใช่หลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดหรือเงินลงทุนในบริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือกิจการร่วมค้า
ราคาทุนเดิม - ค่าเผื่อการลดลงของมูลค่า ณ วันสิ้นสุดรอบระยะเวลารายงาน
การวัดมูลค่าภายหลังการได้มา (ต่อ)
เงินลงทุนในตราสารหนี้
1. กิจการต้องวัดมูลค่าเงินลงทุนในตราสารหนี้ทุกชนิดที่กิจการตั้งใจจะถือจนครบกำหนดและเงินลงทุนที่ไม่ใช่หลักทรัพย์ที่อยู่ในความต้องการของตลาดที่กิจการไม่ได้ตั้งใจถือจนครบกำหนด
ราคาทุนตัดจำหน่าย - ค่าเผื่อการลดลงของมูลค่า ณ วันสิ้นสุดรอบระยะเวลารายงาน
ราคาทุนตัดจำหน่าย = ราคาทุนของตราสารหนี้ที่ได้มาเมื่อเริ่มแรก – เงินต้นที่จ่ายคืน +/- ค่าตัดจำหน่ายสะสมของส่วนต่างระหว่างราคาทุนเริ่มแรกกับมูลค่าที่ตราไว้
2. กิจการต้องวัดมูลค่าเงินลงทุนในตราสารหนี้ที่เป็นหลักทรัพย์ที่อยู่ในความต้องการของตลาดที่กิจการไม่ได้ตั้งใจจะถือจนครบกำหนด ด้วยมูลค่ายุติธรรม และกิจการต้องรับรู้ “กำไร(ขาดทุน)ที่ยังไม่เกิดขึ้น”
- หลักทรัพย์เพื่อค้า : งบกำไรขาดทุน
- หลักทรัพย์เผื่อขาย : ส่วนของเจ้าของ
ราคาทุนตัดจำหน่าย - มูลค่ายุติธรรม ณ วันสิ้นสุดงวดการรายงาน = กำไร(ขาดทุน)ที่ยังไม่เกิดขึ้น
ค่าเผื่อการลดมูลค่าของเงินลงทุน
กรณีมีข้อบ่งชี้ว่าเงินลงทุนมีมูลค่าลดลงอย่างถาวร รับรู้ผลขาดทุนจากการลดมูลค่าของเงินลงทุนในงบกำไรขาดทุน
กรณีไม่มีข้อบ่งชี้อีกต่อไป กิจการสามารถบันทึกกลับรายการผลขาดทุนดังกล่าวได้
โดยมีเงื่อนไข คือ
- กิจการสามารถประมาณราคาขายได้อย่างน่าเชื่อถือ
- ราคาขาย - ต้นทุน < ราคาตามบัญชีของเงินลงทุน
การจำหน่ายเงินลงทุน
1. กิจการต้องบันทึกผลต่างระหว่าง 1) มูลค่ายุติธรรมของสิ่งตอบแทนสุทธิที่ได้รับ กับ 2) ราคาตามบัญชีของเงินลงทุน เป็น “กำไร (ขาดทุน)” ทันทีที่เกิดขึ้น
2. หากกิจการจำหน่ายเงินลงทุนเพียงบางส่วน ราคาตามบัญชีต่อหน่วยที่ใช้ในการคำนวณกำไร(ขาดทุน) จากการจำหน่ายเงินลงทุนชนิดเดียวกันต้องคำนวณโดยใช้วิธีถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักหรือวิธีเข้าก่อน-ออกก่อน
การโอนเปลี่ยนประเภทเงินลงทุน
ตามปกติ การโอนเปลี่ยนเงินลงทุนจากประเภทหนึ่งไปเป็นอีกประเภท จะเกิดขึ้นไม่บ่อย เนื่องจากกิจการต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการถือเงินลงทุน
หลักทรัพย์เพื่อค้า เป็น เงินลงทุนประเภทอื่น
- ต้องใช้มูลค่ายุติธรรม ณ วันที่โอน ในการบันทึกบัญชี
- รับรู้ผลต่างระหว่างราคาตามบัญชีกับมูลค่ายุติธรรม ณ วันนั้นในงบกำไรขาดทุนทันที
เงินลงทุนประเภทอื่น เป็น หลักทรัพย์เพื่อค้า
- ต้องใช้มูลค่ายุติธรรม ณ วันที่โอน ในการบันทึกบัญชี
- รับรู้ผลต่างระหว่างราคาตามบัญชีกับมูลค่ายุติธรรม ณ วันนั้นในงบกำไรขาดทุนทันที
- กลับบัญชีทุกบัญชีที่เกี่ยวข้องกับเงินลงทุนที่โอนเปลี่ยนในงบกำไรขาดทุนทันที
การโอนเปลี่ยนประเภทเงินลงทุน (ต่อ)
ตราสารหนี้ที่เป็นหลักทรัพย์เผื่อขาย เป็น ตราสารหนี้ที่จะถือจนครบกำหนด
- ต้องใช้มูลค่ายุติธรรม ณ วันที่โอน ในการบันทึกบัญชี
- ปรับปรุงส่วนเกิน (ส่วนต่ำ)กว่าทุน ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของเงินลงทุนด้วยผลต่างระหว่างราคาตามบัญชีกับมูลค่ายุติธรรม ณ วันที่โอน
- ส่วนเกิน (ส่วนต่ำ)กว่าทุนแสดงแยกต่างหากในส่วนของเจ้าของ และต้องตัดจำหน่ายตลอดอายุที่เหลือของตราสารหนี้
ตราสารหนี้ที่จะถือจนครบกำหนด เป็น หลักทรัพย์เผื่อขาย
- ต้องใช้มูลค่ายุติธรรม ณ วันที่โอน ในการบันทึกบัญชี
- รับรู้ผลต่างระหว่างระหว่างราคาตามบัญชีกับมูลค่ายุติธรรม ณ วันที่โอน เป็นรายการแยกต่างหากในส่วนของเจ้าของ
การโอนเปลี่ยนประเภทเงินลงทุน (ต่อ)
ตราสารหนี้ที่เป็นหลักทรัพย์เผื่อขาย เป็น ตราสารทุนที่ไม่ใช่หลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดหรือเงินลงทุนในบริษัทย่อย บริษัทร่วมหรือกิจการร่วมค้า
- ต้องใช้มูลค่ายุติธรรม ณ วันที่โอน ในการบันทึกบัญชี
- กลับบัญชีทุกบัญชีที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์เผื่อขาย
ตราสารทุนที่ไม่ใช่หลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดหรือเงินลงทุนในบริษัทย่อย บริษัทร่วมหรือกิจการร่วมค้า เป็น ตราสารทุนที่เป็นหลักทรัพย์เผื่อขาย
- ต้องใช้มูลค่ายุติธรรม ณ วันที่โอน ในการบันทึกบัญชี
- รับรู้ผลต่างระหว่างราคาตามบัญชีกับมูลค่ายุติธรรม ณ วันที่โอนเป็นรายการแยกต่างหากในส่วนของเจ้าของ
การเปิดเผยข้อมูล
ตราสารหนี้ที่ไม่ใช่หลักทรัพย์ที่อยู่ในความต้องการของตลาดและที่อยู่ในตลาดที่กิจการตั้งใจถือจนครบกำหนด เปิดเผย
- ราคาทุนตัดจำหน่าย
- จำนวนเงินตามสัญญา
- ระยะเวลาครบกำหนด
ตราสารหนี้ที่เป็นหลักทรัพย์ที่อยู่ในความต้องการของตลาดที่กิจการตั้งใจถือจนครบกำหนด เปิดเผย
- มูลค่ายุติธรรม
- ราคาทุนตัดจำหน่าย
- จำนวนเงินตามสัญญา
- กำไร(ขาดทุน)ที่ยังไม่เกิดขึ้น
- ระยะเวลาครบกำหนด
ตราสารทุนที่ไม่ใช่หลักทรัพย์ในความต้องการของตลาด เปิดเผย
- ราคาทุน
- ขาดทุนจากการปรับมูลค่าเงินลงทุน
ตราสารทุนที่เป็นหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาด เปิดเผย
- มูลค่ายุติธรรม
- ราคาทุน
- กำไร(ขาดทุน)ที่ยังไม่เกิดขึ้น
***และเปิดเผยข้อจำกัดในการขายเงินลงทุน เช่น นำไปใช้เป็นหลักประกัน
หวังว่าจะมีประโยชน์ต่อนักบัญชีและผู้สอบบัญชี
ฝากกด Like & Share & Subscribe ด้วยนะคะ
Facebook : GungGinkk School กุ๋งกิ๋ง สคูล
Youtube : GungGinkk School
Line : @arichaudit
Comments